กลับหน้าหลัก       ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้       กระดานถามตอบ          

การคิดสังเคราะห์
          การคิดสังเคราะห์ หมายถึงความสามารถในการคิดที่ดึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาหลอมรวมกันภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากเดิม
          การคิดสังเคราะห์ครอบคลุมถึงการค้นคว้า รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะคิดซึ่งมีมากหรือกระจายกันอยู่มาหลอมรวมกัน คนที่คิดสังเคราะห์ได้เร็วกว่าย่อมได้เปรียบกว่าคนที่สังเคราะห์ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเห็นภาพรวมของสิ่งนั้นได้มากกว่า

ประเภทการคิดสังเคราะห์
          การคิดสังเคราะห์แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
         - การคิดสังเคราะห์เพื่อสร้างสิ่งใหม่ เช่น ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ตามต้องการ
         - การคิดสังเคราะห์เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ เป็นการพัฒนาและคิดค้นแนวคิดใหม่ ถ้าเราสามารถคิดสังเคราะห์ได้ดี จะทำให้พัฒนาความคิดหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ความสำคัญของการคิดสังเคราะห์
          การคิดสังเคราะห์มีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการคิด เนื่องจากช่วยจัดระบบข้อมูลให้มีความชัดเจนในประเด็นและเป็นระเบียบมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน ซึ่งมีความสำคัญดังนี้
  1. ช่วยให้หาทางออกของปัญหาโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เราสามารถนำสิ่งที่คนอื่นคิดหรือปฏิบัติมาแล้วมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม นำมาผสมผสานกันเป็นทางออกในการแก้ปัญหา
  2. ช่วยให้มีความเข้าใจที่คมชัดและครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่เดิมเรามักจะหาทางออกของปัญหาโดยการเลียนแบบหรือลองผิดลองถูก ทางที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าคือการใช้การคิดสังเคราะห์เข้ามาช่วยสรุปความรู้ที่กระจัดกระจาย ให้เข้าใจเรื่องได้คมชัดและครบถ้วน
  3. ช่วยขยายขอบเขตความสามารถของสมองในการพยายามสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ ภายนอกนำมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันเพื่อได้แนวทางแก้ปัญหาที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สามารถนำมาใช้ได้จริง และประสบความสำเร็จ
  4. ข้อมูลที่สังเคราะห์จะเป็นประโยชน์ในการคิดต่อยอดความรู้ ทำให้ไม่เสียเวลาเริ่มต้นใหม่ คิดต่อยอดได้ทันที นำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์
  5. ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพราะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องจากการสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดยั้งของมนุษย์
ขั้นตอนการคิดสังเคราะห์
  1. กำหนดวัตถุประสงค์ของสิ่งใหม่ที่ต้องการสร้างหรือสังเคราะห์ขึ้น
  2. ศึกษาส่วนประกอบหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
  3. เลือกและนำข้อมูลที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์มาจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับสร้างสิ่งใหม่
  4. สร้างสิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดที่กำหนดโดยการผสมผสานส่วนประกอบ/ข้อมูลที่เลือกรวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
  5. ตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม ปรับปรุงแก้ไข และนำไปใช้ประโยชน์
ตัวบ่งชี้การคิดสังเคราะห์
  1. สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของสิ่งใหม่ที่ต้องการสังเคราะห์
  2. สามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบหรือข้อมูลที่ต้องการสังเคราะห์
  3. สามารถเลือกข้อมูลที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการสังเคราะห์
  4. สามารถสร้างกรอบแนวคิดตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
  5. สามารถสร้างสิ่งใหม่ได้ตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดที่กำหนด
  6. สามารถตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ได้อย่างตรงประเด็น
  7. สามารถนำสิ่งที่สังเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ได้
ตัวอย่างคำถามหรือคำสั่งที่ต้องใช้การคิดสังเคราะห์
  • จากที่เรียนมาแล้วเกี่ยวกับ "เสือไม่ทิ้งลาย" ให้นักเรียนวาดภาพที่แสดงความสอดคล้องกับข้อความดังกล่าว
  • เขียนสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่เรียนเป็นแผนผังความคิด
  • ให้ร่วมกันจัดทำโครงงานจากเรื่องที่เรียนมาแล้ว 1 เรื่อง
  • จากเนื้อหาที่เรียน นักเรียนคิดว่าควรปฏิบัติตามใคร เพราะเหตุใด
  • ให้ออกแบบสิ่งของต่าง ๆ จากวัสดุที่มีอยู่
  • ให้แต่งคำประพันธ์ บทกลอน โคลง ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน
  • ให้ประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
การพัฒนานักคิดสังเคราะห์
         การคิดสังเคราะห์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ และสามารถส่งเสริมได้โดยฝึกดังนี้
  1. ไม่พอใจสิ่งเดิม ชอบถามหาสิ่งใหม่ ชอบแสวงหา ชอบการเปลี่ยนแปลง
  2. ไม่นิ่งเฉย ชอบสะสมข้อมูล ทำให้มีวัตถุดิบทางความคิดมากเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการสังเคราะห์สิ่งต่าง ๆ
  3. มีความเข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ นำมาเชื่อมโยงอย่างสมเหตุและสมผล
  4. ไม่แปลกแยก ชอบผสมผสาน การผสมผสานองค์ประกอบหรือความคิดที่ดูเหมือนขัดแย้งกันเข้าด้วยกัน โดยผสมผสานอย่างกลมเกลียว และเชื่อมโยงอย่างสมเหตุสมผล
  5. ไม่คลุมเครือ ชอบความคมชัดในประเด็น เข้าใจว่าแนวความคิดหนึ่งประกอบด้วยประเด็นหลักหรือประเด็นรองอะไรบ้าง ฝึกจับประเด็นบทความ หนังสือ หนังสือพิมพ์
  6. ไม่ลำเอียง ชอบวางตนเป็นกลาง ไม่อคติต่อข้อมูลที่ได้ ต้องแยกความรู้สึกออกจากข้อเท็จจริง
  7. ไม่ยุ่งเหยิง ชอบระบบระเบียบ
  8. ไม่ท้อถอย มีความมานะพากเพียร

ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้    

กลับหน้าหลัก       ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้       กระดานถามตอบ